AI Robotics ปัญญาประดิษฐ์ ม.เชียงใหม่ วิศวะ หลักสูตรใหม่

มช. เปิดหลักสูตร วิศว Robotics & AI รองรับเทรนด์เทคโนโลยี ที่ขับเคลื่อนโลกอนาคต

Home / ข่าวการศึกษา / มช. เปิดหลักสูตร วิศว Robotics & AI รองรับเทรนด์เทคโนโลยี ที่ขับเคลื่อนโลกอนาคต

ในโลกยุคปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่เข้ามาตอบสนองต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน และได้ถูกนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างๆ อย่างแพร่หลาย และเมื่อความฉลาดของระบบ AI นำไปสู่การสร้างหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ที่จะตอบโจทย์โลกแห่งนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประเทศต้องการบุคลากร มาพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ทิศทางการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาต้องอาศัยการบูรณาการความรู้ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร

หลักสูตร Robotics & AI ม.เชียงใหม่

ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงได้เปิด หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (Robotics & AI) เพื่อผลิตบัณฑิตคุณภาพด้านวิศวกร รองรับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดในอนาคต

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิด หลักสูตร Robotics & AI หรือ วิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเกี่ยวกับการสร้างระบบฮาร์ดแวร์ของหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ การเขียนโปรแกรมที่เชื่อมโยงกับระบบ AI ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์

ด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ จากอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ จุดเด่นของหลักสูตรจะเน้นการเรียนแบบ Project-based Learning เริ่มจากพื้นฐานสู่การทำโปรเจกต์ประดิษฐ์หุ่นยนต์อัจฉริยะจริงๆ และผู้เรียนสามารถวางแผนเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ได้หลากหลายถึง 4 สาขา ได้แก่ วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมอุตสาหการ โดยใช้เวลาเรียนจบภายใน 1 ปี

ภาพจาก unsplash.com

จบแล้วทำอาชีพอะไร ?

ซึ่งเมื่อจบมาแล้ว สามารถประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซอฟต์แวร์หรือปัญญาประดิษฐ์ได้ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI วิศวกรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วิศวกร Machine Learning นักวิจัยด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบหุ่นยนต์ เป็นต้น

ผลงานด้าน AI ม.เชียงใหม่

ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีผลงานด้าน AI หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ที่ออกรับใช้สังคมอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในวงการแพทย์และภาคอุตสาหกรรม เช่น CMU Aiyara หุ่นยนต์ขนส่งในหอผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หุ่นยนต์เก็บมะม่วงช่วยเกษตรกร และผลงานต่างๆ อีกมากมายซึ่งเป็นที่ประจักษ์ รวมทั้งการส่งประกวดหุ่นยนต์ของนักศึกษา เพื่อแข่งขันในระดับประเทศและนานาชาติ

ซึ่งตรงกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัย ที่ต้องการบ่มเพาะศักยภาพของนักศึกษา ให้เป็นบัณฑิตที่มีความเป็นมืออาชีพ เป็นนวัตกร ผู้สร้างนวัตกรรม มีความรู้และความเชี่ยวชาญ ทั้งด้านความคิดสร้างสรรค์ สามารถบูรณาการได้ และลงมือทำจริง ที่สำคัญเป็นการยกระดับการศึกษา และเพิ่มขีดความสามารถของบัณฑิตไทย ให้เข้าถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี AI ที่จะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ ในการสร้างโอกาสและพัฒนาสังคมรอบด้านได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : Chiang Mai University, THAILAND www.cmu.ac.th

บทความแนะนำ