วัสดุศาสตร์ (materials science) เป็นศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติต่าง ๆ ของวัสดุและกระบวนการที่เกี่ยวข้อง โดยการอาศัยความรู้หลากหลายสาขาวิชาเข้ามาช่วยในกระบวนการเรียนรู้ เช่น เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ธรณีวิทยา และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น เป็นการมุ่งเน้นการเรียนไปที่คุณสมบัติสำคัญของวัสดุในสภาวะที่เป็นของแข็ง เช่น โครงสร้าง ระดับอะตอมหรือโมเลกุลของวัสดุ คุณสมบัติทางอิเล็กทรอนิกส์ การนำความร้อน คุณสมบัติทางเคมี คุณสมบัติทางแม่เหล็กไฟฟ้า ฯลฯ
วัสดุศาสตร์ สาขาของนักวิจัยและพัฒนา
วัสดุศาสตร์เรียนเกี่ยวกับอะไร?
วัสดุศาสตร์ คือวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับวัสดุชนิดต่าง ๆ เช่น โลหะและโลหะผสม เซรามิกและแก้ว พอลิเมอร์และสิ่งทอ รวมไปถึงวัสดุประกอบ (composite material) ประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะเริ่มจะศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการเตรียมวัตถุดิบ กระบวนการขึ้นรูป ตลอดจนคุณสมบัติและการใช้งานของวัสดุที่ถูกผลิตขึ้นมา
จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสาขาวิชาที่น่าเรียนและมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งของและเครื่องมือต่าง ๆ ที่มนุษย์ได้ผลิตขึ้นมาใช้นั้น ล้วนแต่ทำมาจากวัสดุประเภทต่าง ๆ ดังนั้นการพัฒนาด้านวัสดุศาสตร์จึงเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ ยิ่งมนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีให้มีความก้าวหน้ามากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้การคิดค้นวัสดุใหม่ ๆ ให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมง่ายต่อการใช้งาน
คุณสมบัติของผู้เรียน
สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจจะเข้าศึกษาต่อทางด้านวัสดุศาสตร์ ควรเป็นผู้ที่มีความรู้พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาฟิสิกส์และเคมี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนทางด้านวัสดุศาสตร์
เกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณา
- GPAX 20%
- O-NET 30%
- GAT 10%
- PAT1 (คณิตศาสตร์) 10%
- PAT2 (วิทยาศาสตร์) 30%
มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน
- คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
- คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวัสดุศาสตร์ (ภาควิชาฟิสิกส์) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวัสดุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
- คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเทคโนโลยีวัสดุ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
เรียนจบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง?
1. งานในภาคอุตสาหกรรม
- ฝ่ายผลิต (Production) ควบคุม ดูแล ปรับปรุงแก้ไขในกระบวนการผลิตและเครื่องจักร เช่น วิศวกรการผลิต/ควบคุมคุณภาพ ผู้ควบคุมการผลิต เป็นต้น
- ฝ่ายควบคุมการผลิต (QA) หาสาเหตุต่าง ๆ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในการผลิต โดยระบบควบคุมคุณภาพ และวิธีการวิเคราะห์ทางสถิติ รักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สม่ำเสมอ เช่น พนักงานควบคุมและตรวจสอบการผลิต เป็นต้น
- ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ลดต้นทุนการผลิต ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการซื้อ KNOW-HOW เช่น นักเคมีวิเคราะห์ นักเคมี เจ้าหน้าที่วิจัยและพัฒนา เป็นต้น
2. งานด้านวิจัยและการรับราชการ
- การเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ของรัฐ ตลอดจนเป็นนักวิชาการ/นักวิจัยให้กับหน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ เช่น ศูนย์โลหะและวัสดุแห่งชาติ สถาบันวิจัยและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศูนย์นาโนและเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นต้น
ข้อมูลจาก : sci.rmutp.ac.th, material.chula.ac.th, materials.mju.ac.th, mat.sci.ku.ac.th
บทความที่น่าสนใจ
- คณะทัศนมาตรศาสตร์ เขาเรียนอะไรกัน เรียนจบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง?
- สถาปัตยกรรมศาสตร์ อีกหนึ่งคณะน่าเรียน น้อง ๆ ที่มีหัวใจรักในการออกแบบไม่ควรพลาด
- สาขามีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ สาขาน่าเรียนจาก ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
- คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ อีกหนึ่งคณะน่าเรียนสำหรับวัยรุ่นยุคดิจิทัล
- แนะนำสาขาน่าเรียน วิศวกรรมการบินและอวกาศ | เรียนจบแล้วทำงานอะไรได้บ้าง?