ม.เชียงใหม่ ทำกระทงใหญ่ “ทศมินทร์ราชันขวัญหล้าใต้ร่มพระบารมี” ที่สร้างสรรค์ขึ้นจากวัสดุใช้แล้ว พร้อมส่งเข้าร่วมริ้วขบวนสวยงามตระการตา แห่ในงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้อยู่ในลำดับขบวนที่ 10 โดยมีผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษาเข้าร่วมขบวน
สร้างสรรค์กระทงใหญ่จากวัสดุใช้แล้ว – มช.สืบสานประเพณียี่เป็ง
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ส่งกระทงใหญ่พร้อมริ้วขบวนวิจิตรตระการตา “ทศมินทร์ราชันขวัญหล้าใต้ร่มพระบารมี” เข้าร่วมขบวนแห่ในงานประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ เพื่อเป็นการส่งเสริมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นภาคเหนือตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย สำหรับขบวนแห่กระทรงใหญ่จะเริ่มตั้งขบวนบริเวณประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เคลื่อนขบวนตามถนนท่าแพผ่านพุทธสถาน แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนไปรษณีย์ ผ่านโรงเรียนคำเที่ยงอนุสสรณ์ และสิ้นสุดขบวนที่ด้านหน้าเทศบาลนครเชียงใหม่
แนวคิดในการออกแบบรถกระทง มช.
เนื่องในปีแห่งการเฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทราเทพยวรางกูร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี อันเป็นปีมหามงคลยิ่งของปวงชนชาวไทย ประกอบกับวาระอันเป็นมงคลสมัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครบรอบ 55 ปี แห่งการสถาปนาเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกในภูมิภาค
ช้างชูคบเพลิงเป็นตราสัญลักษณ์ สัตว์คู่บ้านคู่เมืองชาวเชียงใหม่
มีช้างชูคบเพลิงเป็นตราสัญลักษณ์ และเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของชาวเชียงใหม่ จึงได้อัญเชิญพญาช้างเอราวัณที่มีพละกำลังมากที่สุดในหมู่ช้างทั้ง 3 เชือก ของพระอินทร์ กำหนดให้เป็นประธานของรถกระทง ซึ่งมีพระราชลัญจกรในหลวงรัชกาลที่ 10 ประทับอยู่บนหลังช้างเอราวัณ ตามคติความเชื่อเทวราชาของคนไทย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพ เชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นอวตารหนึ่งของพระนารายณ์ มาประดิษฐานหน้ารถกระทง
ด้านข้างของรถประกอบด้วย พญานาคทั้ง 4 ตระกูล ดูแลปกปักรักษาเชิงเขาพระสุเมรุ และมีหม้อบูรณฆฏะ ที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ อันมีกระต่ายเป็นสื่อหมายถึงพระจันทร์ นกยูงหมายถึงพระอาทิตย์ ด้านหลังของตัวรถมีเครื่องสัตตภัณฑ์ สัญลักษณ์แห่งการจำลองเขาพระสุเมรุ ตามคติความเชื่อเรื่องศูนย์กลางแห่งจักรวาลและการกำเนิดโลก
สร้างสรรค์รถกระทงขึ้นจากวัสดุใช้แล้ว
เนื่องในวาระครบรอบ 55 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้เกิดมิติใหม่แห่งการสร้างสรรค์ ตามแนวคิดยุทธศาสตร์ล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงจินตนาการสร้างสรรค์รถกระทงขึ้นจากวัสดุใช้แล้ว เช่น การประดับปราสาทล้านนาเรือนยอด ด้วยแผ่นซีดี และกระจกหน้าจอคอมพิวเตอร์ใช้แล้ว
ขวดน้ำที่ใช้แล้ว
เกล็ดพญานาคเรียงร้อยจากวัสดุขวดพลาสติก และวัสดุเหลือใช้ เพื่อนวัตกรรมสร้างสรรค์ ประหยัดพลังงาน ลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม อันเป็นแนวคิดวิจัยเชิงรุกตามยุทธศาสตร์ของประเทศ
อนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์ภูมิปัญญาช่างสล่าล้านนา
นอกจากนั้น ยังถือเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์ภูมิปัญญาช่างสล่าล้านนา โดยประยุกต์ใช้เทคนิคโบราณ ตัดลาย ฉลุกระดาษ สานตอก ประดับกระจก นำมาเรียงร้อยเรื่องราว จินตนาการ สร้างสรรค์เกิดเป็นลวดลาย ดอกดวง บุปผา มาลา ดอกสร้อย ประกอบขึ้นเป็นรถ “ทศมินทร์ราชันขวัญหล้าใต้ร่มพระบารมี” ให้สมกับคำว่า “เชียงใหม่ นครที่เป็นที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม”
อัลบั้มภาพ 26 ภาพ
ที่มาจาก : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, cmu.ac.th