การประชุม คำศัพท์

“5 ตัวย่อ” เหล่านี้คืออะไรในเวที ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 35

Home / วาไรตี้ / “5 ตัวย่อ” เหล่านี้คืออะไรในเวที ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 35

เมื่อกล่าวถึงการประชุม ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในฐานะประธานอาเซียน ใครหลายคนก็จะนึกถึงภาพการมาร่วมประชุมของผู้นำและตัวแทนจากประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเด็นการพูดคุยเจรจากันเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และอื่น ๆ แต่ที่น่าสังเกตในการนำเสนอข่าวการประชุมไม่ว่าจะทางสื่อประเภทใด เรามักจะได้ยินหรือเห็นตัวย่อภาษาอังกฤษต่าง ๆ ปรากฏอยู่ในเนื้อหาข่าว ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้มีการอธิบายว่าหมายถึงอะไร หลายคนจึงอาจจะงงว่าอักษรย่อเหล่านั้นคืออะไร ในบทความนี้ชิ้นนี้จึงขอหยิบมาอธิบายให้เข้าใจถึงความหมายและความสำคัญเบื้องต้นของ “5 ตัวย่อ”

5 ตัวย่อ ในเวที ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 35

“RCEP” (อาร์เซ็ป)

RCEP ย่อมาจาก Regional Comprehensive Economic Partnership แปลว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เป็นกรอบการเจรจาเพื่อสร้างระบบการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ หรือ ASEAN+6

RCEP เริ่มมีการเจรจาอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 แต่ยังไม่สำเร็จเนื่องมีกรอบการพิจารณาที่มีถึง 20 ประเด็น และมีผลกระทบหลายมิติที่แต่ละประเทศจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ จนกระทั่งในการประชุม ASEAN SUMMIT ครั้งนี้ (เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ ปิดการเจรจาและทำความตกลงใน 20 ประเด็น และมอบให้คณะเจรจาเริ่มขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย ยกเว้นอินเดียที่ยังคงมีประเด็นค้างและต้องการจะเจรจาต่อไป

โดยการลงนามในความตกลง RCEP นี้จะเกิดขึ้นในปี 2563 ที่เวียดนามเป็นเจ้าภาพ และเริ่มดำเนินการตามความตกลงได้ในพ.ศ. 2564 ซึ่งหากเขตการค้าเสรี RCEP เกิดขึ้นจริง ตามที่คาดการณ์ไว้ RCEP ก็จะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมแก่ไทยและอาเซียน

“MOU” (เอ็ม โอ ยู)

MOU ย่อมาจาก Memorandum of Understanding หมายถึง เอกสารหรือหนังสือที่บันทึกความเข้าใจในข้อตกลงร่วมกันระหว่างบุคคล คณะบุคคล หน่วยงาน องค์กร หรือกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดทำขึ้นเพื่อตกลงว่าจะร่วมมือกันในการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกิดประโยชน์แก่ทั้ง 2 ฝ่าย หรือหลายฝ่าย โดยไม่ได้มีผลผูกพันเหมือนสนธิสัญญาหรือสัญญา แต่ทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันว่า จะทำอะไร เพื่ออะไร เมื่อไหร่ อย่างไรนั่นเอง

สำหรับในการประชุม ASEAN SUMMIT ในครั้งนี้มีการลงนามใน MOU ที่สำคัญ คือ การลงนาม MOU ระหว่างประธานสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (FIFA) กับเลขาธิการอาเซียน เพื่อส่งเสริมฟุตบอลในอาเซียน และสนับสนุนความปรารถนาร่วมกันของอาเซียนที่จะเสนอตัวร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในค.ศ. 2034

“IUU” (ไอ ยู ยู)

IUU หรือ IUU Fishing ย่อมาจาก Illegal Unreported and Unregulated Fishing โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ให้นิยามว่า การทำประมงที่ผิดกฎหมาย การประมงที่ขาดการรายงาน และการประมงที่ไร้การควบคุม ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเรือประมงเถื่อน การรุกล้ำเข้าไปทำประมงในน่านน้ำของประเทศอื่น รวมทั้งปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานประมง ซึ่งประเทศไทยเคยได้รับใบเหลือง IUU จากสหภาพยุโรป (EU) จนนำไปสู่การแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายครั้งใหญ่ในสมัยรัฐบาล คสช. และได้รับการปลดใบเหลือง IUU จาก EU ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

โดยในการประชุม ASEAN SUMMIT ครั้งนี้ ได้มีการกล่าวถึงการจัดตั้งเครือข่ายอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาการประมง IUU ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานของอาเซียนที่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

“BRI” (บี อาร์ ไอ)

BRI ย่อมาจาก Belt and Road Initiatives หรือ เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 หรือชื่อเดิมคือ One Belt One Road (OBOR) ซึ่งเป็นอภิมหาโครงการของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ต้องการทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก โดยการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาให้เข้าด้วยกัน เช่น การสร้างทั้งถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ ท่อส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น โครงการนี้จะช่วยผลักดันให้จีนกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก

สำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา มีการกล่าวถึง แผนการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนแม่บทของอาเซียนกับ BRI ของจีน และได้มีการกำหนดให้พ.ศ. 2563 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน ที่จะช่วยขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้า เพื่อความมั่งคั่งของภูมิภาค

“TAC” (ที เอ ซี)

TAC ย่อมาจาก Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia หรือ สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดทําขึ้นโดยประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ซึ่งเป็นชาติผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียน โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 เพื่อกําหนดหลักการดําเนินความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก ได้แก่

1. การเคารพในเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค ของกันและกัน
2. การที่ทุกรัฐมีสิทธิที่จะทำให้ชาติตนปลอดจากการแทรกแซง ทำลาย หรือข่มขู่จากภายนอก
3. การไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน
4. การระงับข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทโดยสันติวิธี
5. การเลิกคุกคามหรือใช้กำลัง
6. การสร้างความร่วมมือระหว่างกันอย่างมีประสิทธิผล

ในระยะต่อมาได้เปิดโอกาสให้ประเทศอื่น ๆ เข้าเป็นภาคี TAC และในการประชุม ASEAN SUMMIT ครั้งนี้ ได้มี 2 ประเทศที่ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคี TAC ได้แก่ บาห์เรนและเยอรมนี ทำให้ปัจจุบันมีภาคี TAC ทั้งสิ้น 40 ประเทศ

สำหรับ 5 คำที่นำมาอธิบายนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหลายคำที่ปรากฏอยู่ในการประชุม ASEAN SUMMIT ครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในฐานะประธานอาเซียน

โดย ครูพี่หมุย โซไซไทย
Facebook : ครูพี่หมุย SociThai
Twitter : Kru P’Mui SociThai

บทความแนะนำ